วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ถั่วเหลือง

 ถั่วเหลืองเป็นธัญพืชที่เราคุ้นเคยกันดี เพราะสามารถนำมาทำเป็นนมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ น้ำมันถั่วเหลือง หรือขนมหวานอร่อย ๆ ได้หลายชนิด แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าประโยชน์ถั่วเหลืองครอบคลุมสุขภาพได้หลายด้าน เอาเป็นว่าเรามาทำความรู้จักประโยชน์ของถั่วเหลืองกันสักหน่อยดีกว่า
ถั่วเหลือง
  ถั่วเหลืองมีถิ่นกำเนิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน โดยชาวจีนนิยมเพาะปลูกและใช้ประโยชน์จากถั่วเหลืองมานานกว่า 5,000 ปี จากนั้นถั่วเหลืองจึงได้ขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ได้แก่ เกาหลี ญี่ปุ่น ยุโรป และแถบอเมริกา แต่การเข้ามาของถั่วเหลืองในไทยอาจยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด จึงได้แต่สันนิษฐานกันว่าเหล่าพ่อค้าและชาวเขาซึ่งเดินทางไป-มาระหว่างจีนตอนใต้และภาคเหนือตอนบนของไทยเป็นผู้ที่นำถั่วเหลืองเข้ามาปลูกในบ้านเรา 

          ถั่วเหลือง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Soybean มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Glycine max (L.) Merrill อยู่ในวงศ์ Legumeminosae เป็นพืชล้มลุก ทรงต้นเป็นพุ่ม มีความสูงระหว่าง 50 เซนติเมตร-2 เมตร บางพันธุ์ก็เลื้อยเป็นเถา ระบบรากประกอบด้วยรากแก้ว ส่วนรากฝอยเกิดเป็นกระจุกประสานกันอยู่ใต้ระดับผิวดิน บริเวณผิวรากมีปมของบัคเตรีเกาะอยู่และเห็นได้ชัดเจน ลำต้นแตกกิ่งจำนวน 3-5 กิ่ง มีขนสีขาว น้ำตาล หรือเทาคลุมอยู่ ใบถั่วเหลืองเกิดสลับกันเป็นใบรวม ประกอบด้วยใบย่อย 3 ใบ รูปร่างกลมรี ช่อดอกเกิดจากมุมใบและปลายยอด ดอกมีขนาดเล็กสีขาวหรือม่วง จำนวน 3-15 ดอกต่อหนึ่งช่อ ดอกสมบูรณ์เพศ มีอับเกสรตัวผู้และรังไข่อยู่ในดอกเดียวกัน 

    
          คราวนี้ลองมาสำรวจคุณค่าทางโภชนาการของถั่วเหลืองกันบ้างค่ะว่า ในถั่วเหลือง 100 กรัม มีสารอาหารอะไรเท่าไร โดยข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย ได้ระบุคุณค่าทางโภชนาการของถั่วเหลืองดิบในปริมาณ 100 กรัมมาดังนี้

ถั่วเหลือง

ถั่วเหลืองดิบ 100 กรัม ประกอบด้วยคุณค่าทางโภชนาการ...

          - โปรตีน 34 กรัม
          - ไขมัน 18.7 กรัม
          - คาร์โบไฮเดรต 31.4 กรัม
          - ไฟเบอร์ 4.7 กรัม
          - น้ำ 11.1 มิลลิลิตร
          - พลังงาน 430 กิโลแคลอรี
          - แคลเซียม 245 มิลลิกรัม
          - ฟอสฟอรัส 500 มิลลิกรัม
          - ธาตุเหล็ก 10 มิลลิกรัม
          - ไธอามีน 0.73 มิลลิกรัม
          - ไรโบฟลาวิน 0.19 มิลลิกรัม
          - ไนอาซิน 1.5 มิลลิกรัม
          - วิตามินซี 14 มิลลิกรัม

    
          นมถั่วเหลืองนับว่าเป็นอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะประกอบไปด้วยสารอาหารทั้ง 5 หมู่ อันได้แก่ โปรตีน, ไขมัน, คาร์โบโฮเดรต, เกลือแร่ และวิตามินหลากชนิด แล้วประโยชน์ของถั่วเหลืองล่ะ จะจัดเต็มขนาดไหน มาอ่านกันเลยจ้า

ถั่วเหลือง

ประโยชน์ของถั่วเหลือง ธัญพืชเมล็ดจิ๋ว แต่สรรพคุณไม่เล็กตาม

1. ถั่วเหลืองอุดมไปด้วยโปรตีน ดีต่อคนไม่กินเนื้อสัตว์
    
          ในนมถั่วเหลืองมีโปรตีนโกลบูลิน (Globulin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสมบูรณ์ เนื่องจากประกอบไปด้วยกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกาย ครบทั้ง 10 ชนิด แถมยังมีเยอะกว่าในเนื้อสัตว์อีกด้วย โดยพบว่าถั่วเหลืองปรุงสุกเพียง 1 ถ้วยตวง มีปริมาณโปรตีนมากถึง 22 กรัม ซึ่งมากกว่าสเต็ก 1 ชิ้นซะอีก 

2. ป้องกันการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้

          นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทศัลยศาสตร์ ได้เปิดเผยว่า สารที่อยู่ในถั่วเหลืองอย่างเดดซีน (daidzein) และจีนิสทีน (genistein) จะไปช่วยการหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ดังนั้นคุณผู้ชายก็ควรกินถั่วเหลืองกันด้วยนะคะ แต่ก็ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ

3. แก้อาการวัยทองได้
    
          ถั่วเหลืองมีไอโซฟลาโวนเป็นส่วนประกอบและมีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง จึงช่วยลดอาการร้อนวูบวาบของสตรีวัยหมดประจำเดือนที่มีสาเหตุมาจากภาวะเอสโตรเจนในร่างกายลดน้อยลงได้ ดังนั้นจึงสามารถกินอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองแทนการใช้ฮอร์โมนทดแทนได้นั่นเองค่ะ

4. ป้องกันโรคกระดูกพรุน
    
          นอกจากจะช่วยแก้อาการวัยทองแล้ว ไอโซฟลาโวนในถั่วเหลืองยังมีการศึกษาจำนวนมากที่บ่งชี้ว่าสามารถเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก ลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนได้ อีกทั้งในถั่วเหลืองเองก็ยังมีแคลเซียม และวิตามินอื่น ๆ อีกจำนวนไม่น้อย ซึ่งก็จะช่วยในการผลิต รวมทั้งซ่อมแซมกระดูกส่วนที่สึกหรอได้

5. กระตุ้นการขับถ่าย
    
          ไฟเบอร์ในถั่วเหลืองปริมาณ 100 กรัม มีอยู่ราว  4.7 มิลลิกรัม ซึ่งก็เพียงพอที่จะกระตุ้นระบบการขับถ่ายในร่างกายของเราให้ทำงานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะหากกินถั่วเหลืองต้มสุกที่ยังคงอยู่ในลักษณะเต็มเม็ด ซึ่งจะได้รับไฟเบอร์จากเมล็ดถั่วเหลืองค่อนข้างจะสมบูรณ์

6. ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด

          สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาเผยว่า ถั่วเหลืองมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวในอัตราส่วนที่สูง ซึ่งกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวจะช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ป้องกันการสะสมของไขมันในหลอดเลือดชั้นใน อันเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหัวใจและความดันโลหิตสูงได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น